Advertisement

Main Ad

คำศัพท์ในสัญญาตอนที่ 2: เคยอ่านแล้วเจอคำว่า "Exclusive" กันไหมเอ่ย

คำศัพท์ในสัญญาตอนที่ 2: เคยอ่านแล้วเจอคำว่า "Exclusive" กันไหมเอ่ย

ขอเอาใจคนที่ต้องการความรู้แบบธุรกิจกันบ้างนะคะ สาลี่เคยเขียนคำศัพท์ในสัญญาตอนที่ 1 เอาไว้ เกี่ยวกับคำว่า "including but not limited to" กันไปแล้ว หากต้องการเข้าไปอ่าน คลิกที่นี่ได้เลยค่ะ

มาวันนี้มาเรียนรู้คำศัพท์อีกคำนะคะ พนันกันได้เลยว่า หากเป็นสัญญาธุรกิจ ยังไง...ยังไงก็ต้องเจอคำว่า "exclusive" ค่ะ อ่านว่า "/อิกซ์-คลู-ซิฟ/" เป็น Adjective นะคะ (สำหรับรากศัพท์คำว่า "clud, clus, claus" ก็สามารถอ่านได้ในบทความตอนที่ 1 ที่สาลี่ทำลิงก์ไว้ให้ตอนต้นนะคะ :)


"จำศัพท์จากรากศัพท์จะทำให้เราลืมได้ยากที่สุด 
แต่จำได้นานที่สุดค่ะ"

เกริ่น -- รากศัพท์คำว่า clud, clus, claus นั้นแปลว่า "ปิด หรือ to close" ค่ะ ส่วนคำว่า "ex" นั้น เป็น prefix แปลว่า out หรือ ข้างนอก

*** ต้องจำ ***  Prefix คำนำหน้า "รากศัพท์" = บอกความหมาย
                          Suffix คำตามหลัง "รากศัพท์" = บอกหน้าที่ของคำ หรือ Part of Speech นะคะ 

หากต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของคำ หรือ Part of Speech คลิกที่นี่ได้เลยจ้า

มาค่ะ มามะ มาเข้าเรื่องกันดีกว่า เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า สาลี่ได้ทำงานชิ้นหนึ่งเมื่อวานนี้และไปเจอคำศัพท์ที่เกี่ยวกับคำว่า "exclusive" ที่มีความหมายไม่ธรรมดา..อ๊ะฮ้า...ไม่ธรรมดา (ไชยา มิตรชัยมาเองเลยทีเดียว) ไม่ธรรมดาอย่างไร สาลี่ก็จะมาบอกเล่าเก้าสิบกันในบทความนี้ค่ะ

เวลาเราไปเดินห้างหรือคลับหรูๆ ที่เขาต้องสมัครเมมเบอร์ หรือ Membership สมาชิกกัน ห้างหรือคลับหรูๆ นั้น มัน exclusive จริงๆ นั้นก็หมายความว่า (สืบเนื่องมาจากรากศัพท์ข้างต้น) ความหรูหรานี้ มัน "ปิด" ไว้สำหรับคนที่เป็นสมาชิกจริงๆ มันเป็นสิทธิที่ปิดคนอื่นไว้ "ข้างนอก ex" และมีแต่คนวงในหรือสมาชิกเท่านั้นที่จะสามารถชื่นชมกับความหรูหรานั้นได้ = ดังนั้น "exclusive" ในบริบทนี้ จึงแปลว่า "พิเศษ, แพง, หรูหรา ที่สงวนไว้สำหรับคนรวยหรือสังคมชั้นสูง" เลิศไหมคะ T_T อยากเป็นหนึ่งในไฮโซ ไฮซ้อบ้าง แต่เรามัน High Taste but Low Income หรือ "รสนิยมสูง..รายได้ต่ำ" 55+

แต่...เวลามาแปลสัญญา หรือ อ่านบทความเกี่ยวกับธุรกิจ 
คำว่า "exclusive" มันช่างแตกต่างกับสิ่งที่สาลี่ยกตัวอย่างไปข้างต้นอย่างสิ้นเชิงเลยค่ะ

คำแรกที่เรามักเจอในสัญญาคือ "Exclusive Rights" เคยเจอกันบ้างไหมเอ่ย ตรงนี้ "อย่า" ได้แปลว่า "สิทธิพิเศษ" เชียวนะคะ เพราะว่าสิทธิพิเศษ เรามีคำเรียกมันอยู่แล้ว คำนั้นก็คือ "Privilege" /พริ-เวอะ-ลิดจ์/ หรือ อดีตนายกนั่นเอง (โอเค...แป๊ก 55+)

หากเจอคำว่า Exclusive ในสัญญาปุ๊ป 
ให้นึกถึงความหมายว่า "เด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว" ปั๊บเลยนะคะ 

ใช้หลักการจำจากรากศัพท์เหมือนกัน  clus ไว้ หรือ ปิดไว้ คนอื่นหรือคนข้างนอกไม่มีสิทธิเลยที่จะมาได้รับผลประโยชน์แบบเรา ดังนั้น สิ่งนั้นจึงเป็นของเราโดยเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวค้า (พอเข้าใจไหมเอ่ย)

คำที่ตรงกันข้ามกับคำว่า "exclusive" 
ก็คือคำว่า "non-exclusive" ดังนั้น ในสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย หรือ Distributorship Agreement หากเจอคำว่า non-exclusive ก็จะแปลว่า 
ผู้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสามารถแต่งตั้งบุคคลอื่นๆ 
ที่นอกเหนือไปจากเรา ขึ้นเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกคนก็ได้นะคะ ^^ 
(งานก็เข้าเราค่ะ เพราะว่ามีคนที่จะมาขายสินค้าแบบเดียวกับเรา เพิ่มขึ้นมาอีก จะกี่คนก็ต้องแล้วแต่ว่า ผู้ให้สิทธิจะแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีกกี่คน T_T (ยาก แต่ไม่ยากเกินความเข้าใจนะคะ เนอะ)

แต่ประโยคที่สาลี่เจอนั้นคือ 


"The Parties submit to the non-exclusive jurisdiction of the Thai Courts." 


สาลี่ว่าอันนี้ยากกว่าที่สาลี่อธิบายไปข้างต้นค่ะ ทุกคนคิดว่าประโยคนี้จะแปลว่าอย่างไรดีเอ่ย ใบ้ให้ว่า Jurisdiction /จู-ริส-ดิ้ก-ชั่น/ แปลว่า เขตอำนาจศาลค่ะ และเป็น Thai Courts ด้วย แสดงว่าต้องเป็นเขตอำนาจศาลไทย  แต่เขตอำนาจศาลไทย ที่มันไม่ exclusive จะหมายความอย่างไรดีละคะ 

คิดนานมาก ไม่รู้ว่าจะเรียบเรียงคำพูดอย่างไร
สุดท้าย เข้าไปปรึกษาเจ้านาย เจ้านายโยนโครมประโยคที่สละสลวยมาก
T_T นี่แหล่ะน้า ความเชี่ยวชาญมันคนละชั้นกันจริงๆ

แต่ก่อนจะเฉลย อยากรู้ก่อนว่า ทุกๆ คนที่เข้ามาอ่านจะแปลว่าอะไร ???


ลองตอบในใจกันดูก่อนนะคะ (ก่อนเลื่อนไปดูคำตอบข้างล่าง)















................................อ๊ะ อะ คิดหรือยัง











เฉลยเลยนะคะ


ประโยคข้างต้นแปลว่า



"คู่สัญญายอมตนผูกพันในเขตอำนาจแห่งศาลไทย ซึ่งมิใช่ศาลที่มีเขตอำนาจแต่เพียงผู้เดียว" 


หมายความว่า จะไปฟ้องกันที่ศาลอื่นๆ ก็ได้ค่ะ



เรื่องมันยาก แต่ก็สนุกนะคะ :)

สำหรับผู้เริ่มต้น แค่จำคำว่า Exclusive ไว้ก็พอค่ะ ใครจะไปรู้วันข้างหน้าเราอาจจะได้ใช้มันก็ได้นะคะ :)


..มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน..

แสดงความคิดเห็น

8 ความคิดเห็น

  1. ขอบตุณมากค่ะ สำหรับ The Parties submit to the non-exclusive jurisdiction of the Thai Courts. เห็นที่ว่าจะต้องเข้ามาใช้บริการ blog นี้ และเข้ามารบกวรคุณสาลี่บ่อยๆ แล้วสิค่ะ
    เพราะนั่งแปลสัญญาอยู่ ตาลายท้างวันเรยค่ะ
    ขอบคุณนะค่ะ อิอิ ^^

    ตอบลบ
  2. แล้วพอจะมีบทความอันไหนที่เกี่ยวกับสัญญาอีกบ้างรึป่าวค่ะ

    ตอบลบ
  3. สาลี่มีเขียนบทความเกี่ยวกับศัพท์ทางกฎหมายไว้บ้างค่ะ สองสามบทความ
    ลองค้นหาดูใน "เรียนคำศัพท์กับครูสาลี่" ในแถบสีดำด้านบนเลยนะคะ :)

    ขอบคุณที่ติดตามค่ะ

    ปล. ช่วงนี้อู้ ไม่ค่อยได้เขียนค่ะ

    ตอบลบ
  4. ขออนุญาตให้ข้อมูลหน่อยนะครับ พอดีผมนักแปล

    คำว่า non-exclusive jurisdiction ตามสัญญาที่สัญญาต้นฉบับภาษาไทย จะใ้ช้คำว่า "ศาลที่มีเขตอำนาจในการตัดสินคดีทั่วไป" ครับ

    ส่วนประโยค "The Parties submit to the non-exclusive jurisdiction of the Thai Courts" นี้ใช้คำว่า "คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะเสนอคดีต่อศาลไทยที่มีเขตอำนาจในการตัดสินคดีทั่วไป" ครับ

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณมากค่ะคุณ Engman
    ที่มามอบความรู้ให้กับทั้งตัวของสาลี่
    และเพื่อนๆ ที่ตามอ่านบล็อก

    (^.^)

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอขยายความนิดนึงค่ะ บังเอิญวันนี้ได้แปลงานแล้วพบศัพท์คำว่า "exclusive jurisdiction" อีก
      ก็เลยค้นหาเพิ่มเติมประกอบความรู้เดิม พบว่า คำแปลของ "non-exclusive jurisdiction" ที่คุณ Engman แปลมาว่า "ศาลที่มีอำนาจในการตัดสินคดีทั่วไป" นั้นเป็นคำแปลที่สามารถค้นหาได้จากเว็บดิกชันนารี Longdo.com ตามลิงก์นี้ค่ะ http://dict.longdo.com/search/non-exclusive

      แต่จากเว็บไซต์ต่างๆประเทศ ซึ่งเป็นเว็บกฎหมาย ให้คำจำกัดความไว้ว่า
      Exclusive jurisdiction clauses
      Exclusive jurisdiction clauses limit disputes to the courts of one jurisdiction. An exclusive jurisdiction clause
      achieves relative certainty: you know where you can sue and be sued. They also offer greater protection in that
      it is less likely that another court will accept jurisdiction if faced with an exclusive jurisdiction clause.
      Non-exclusive jurisdiction clauses
      Non-exclusive jurisdiction clauses expressly provide for disputes to be heard in the courts of a particular
      jurisdiction but without prejudice to the right of one or other of the parties to take a dispute to the courts of any
      other jurisdiction if appropriate. Such clauses achieve certainty to the extent that you know that disputes can be
      heard in a particular jurisdiction which you find attractive but should jurisdiction elsewhere be necessary, it is
      available. However, although they offer greater flexibility there is the risk of parallel proceedings particularly
      where the parties or one of them is domiciled outside the EU.5

      ดังนั้น จากคำจำกัดความข้างต้น สาลี่ขอยืนยันคำตอบเดิมตามที่เขียนสอนไปในบทความข้างต้นค่ะ ว่า "non-exclusive jurisdiction" คือ เขตอำนาจศาล ที่ไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจแต่เพียงผู้เดียว

      ยกตัวอย่างเช่น บริเวณขอบชายแดนรัฐ มีชายคนหนึ่งถือปืนอยู่ในเขตแดนรัฐหนึ่ง แต่ยิงปืนนั้นออกไปถูกผู้ตายที่อยู่ในเขตแดนอีกรัฐหนึ่ง กรณีดังกล่าว สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีชายผู้นั้นได้จากทั้งรัฐที่ถือปืน และรัฐของผู้ที่ถูกยิง ค่ะ เรามีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า concurrent jurisdiction คือ ศาลใด ศาลหนึ่ง ไมไ่ด้มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้แต่เพียงผู้เดียว ศาลอื่นก็สามารถพิจารณาคดีนี้ได้เช่นกัน

      อ้างอิง: http://www.herbertsmithfreehills.com/-/media/HS/SIBAJ3005124.pdf
      https://in.answers.yahoo.com/question/index?qid=20060704014519AAWGTJx

      ลบ
    2. ผมในฐานะทนายความ เห็นด้วยกับครูสาลี่ครับ :)

      ลบ
  6. มีเพิ่มเติมนะครับ

    Distributorship Agreement ไม่ได้แปลว่า "สัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย" ครับ
    แต่แปลว่า "สัญญาจัดจำหน่าย" เพราะ distributor คือ "ผู้จัดจำหน่าย" ที่ได้รับสิทธิมาจากเจ้าของสินค้าโดยตรง

    ส่วนตัวแทนจำหน่าย ผมใช้คำว่า dealer หมายถึง ผู้ที่ได้รับสิทธิการขายมาจาก "ผู้จัดจำหน่าย" อีกทอดหนึ่งครับ

    ตอบลบ

ทักทาย แสดงความคิดเห็นหรือถามคำถามได้ ที่นี่ เลยค่ะ