Advertisement

Main Ad

คำศัพท์ในสัญญาตอนที่ 3: อุทกภัยนี้หรือ คือ ACT OF GOD

คำศัพท์ในสัญญาตอนที่ 3: อุทกภัยนี้หรือคือ ACT OF GOD

เมื่อวานนี้ต้องขออภัยค่ะ สาลี่มัวแต่นั่งติดตามข่าวคราวน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ก็เลยไม่ได้เขียนบล็อก (55+ เปล่าหรอกจริงๆ อู้ อุ๊บส์) เพื่อนๆ สามารถติดตามข่าวน้ำท่วมได้นาทีต่อนาทีทางเว็บ Sanook.com นะคะ (สาลี่ขำคุณแม่ เพราะคุณบอกเพื่อนบ้านกับคนรู้จักว่า ให้เข้าไปติดตามข่าวที่เว็บสนุ๊กดอทคอม เพื่อนบ้านถามกลับมาว่า หา...สนุ๊กเกอร์นะหรอ ตึ่ง! เป็นอันจบข่าว T_T) 

คำว่า "น้ำท่วม" หรือ "อุทกภัย" นี้ ภาษาอังกฤษเราเรียกว่า FLOOD /ฟลัด/ นะคะ เป็นได้ทั้งคำนาม (Noun) และ กริยา (Verb) เลยค่ะ :) 


ถ้าใช้เป็นคำนาม --> Northern provinces of Thailand have been severely hit by flood. จังหวัดทางภาคเหนือของไทยประสบภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง 
หรือถ้าใช้เป็นกริยา --> Please help me. The water is flooding in. ช่วยด้วยค้า น้ำไหลทะลักเข้ามาแล้ว

"น้ำท่วม หรือ อุทกภัย" แบบนี้ เราเรียกว่า "ภัยพิบัติ" ค่ะ และคำศัพท์สำหรับ "ภัยพิบัติ" ในภาษาอังกฤษก็มีมากมายค้า ได้แก่ 
  • disaster /ดิ-แซส-เตอะ/ เวลาจำนะคะให้จำว่า "aster/astro" เป็นรากศัพท์แปลว่า "ดวงดาว" และ dis แปลว่า "ไม่" (เป็น prefix -- วางไว้หน้ารากศัพท์เพื่อบอกความหมาย) ดังนั้น disaster ก็จะเป็นคืนที่ฟ้าไร้ดาว เมื่อใดก็ตามที่ฟ้าไร้ดาว มันมักหมองหม่นเหมือนกับจะเกิดเหตุร้าย -- คำว่า disaster จึงแปลว่า "ภัยพิบัติ" นั่นเองค่ะ
  • calamity /เคอะ-แล-เมอะ-ติ่/ ซึ่งก็แปลว่า "ภัยพิบัติ" เช่นเดียวกันค่ะ จำยังไงดีล่ะคะ จำว่าวันใดที่เราต้องถือ cala กะลาไปขอทาน วันนั้นภิบัติแล้วค้า ไม่มีอะไรจะกินแล้ว (อันนี้แถนะคะ แบบไม่มีหลักการเหมือนคำแรก อิอิ)
  • catastrophe /เคอะ-แทรส-เทรอะ-ฟิ่/ เวลาจำนะคะให้จำว่า "aster/astro" เป็นรากศัพท์แปลว่า "ดวงดาว" ส่วนคำว่า "cata" แปลว่า "ตกลงมา หรือ down" (เป็น prefix -- วางไว้หน้ารากศัพท์เอาไว้บอกความหมายนะคะ) ดังนั้น มันเป็นวันที่ดวงดาวร่วงหล่นหรือตกลงมาหมดเลยค่ะ นั่นก็หมายความถึง "ภัยพิบัติ หรือหายนะ" เช่นเดียวกัน 
ภัยพิบัติเหล่านี้ เขาเรียกกันว่า Act of God ค่ะ หรือเป็นน้ำมือของพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีใครสามารถมาควบคุมไม่ให้เกิดได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนกับน้ำท่วมประเทศไทยอยู่ในครั้งนี้ไงคะ 

แต่ทว่า ACT OF GOD ก็ปรากฏอยู่ในหัวข้อหนึ่งของสัญญาเช่นกันค่ะ เรามักเรียก Clause นั้นว่า Force Majeure /ฟอร์ส-มะ-เจอร์/ (คำว่า /คลอส/ ใช้เรียกข้อแต่ละข้อในสัญญา บางครั้งใช้ article /อาร์-ติ-เคิ่ล/ ก็ได้ค่ะ) และสัญญาที่มักจะมีข้อความ Force Majeure ปรากฏอยู่ก็มักเป็นสัญญาทางธุรกิจที่ต้องมีความรับผิดเกิดขึ้นหากเกิดความเสียหายขึ้นกับสินค้า



วัตถุประสงค์ของ Force Majeure Clause คือ การปลดเปลื้องคู่สัญญาออกจากความรับผิด ซึ่งความรับผิดในภาษากฎหมาย เราเรียกว่า "liability /ไล-เออะ-บิ๊-เลอะ-ติ่/ 

ถ้าจะพูดให้เข้าเทรนด์ ช่วงนี้คงต้องกล่าวถึงสัญญาการประกันภัยรถยนต์กันนะคะ เนื่องจากในช่วงอุทกภัย คงมีรถยนต์จำนวนมากที่ต้องเสียไป เพราะเครื่องยนต์ดับหรือน้ำป่าไหลหลากและพัดพารถยนต์ไปกระแทกกับต้นไม้จนบุบ หรือ พัดไปรถยนต์ไปไม่ให้เห็นหน้าค่าตากันอีกเลย 
ผู้เอาประกัน (ผู้ทำประกันภัยนั้น) อาจหัวหมอคิดว่า น้ำป่าไหลหลาก อ๊า...ประกันจ่าย ไม่ต้องนำรถไปจอดที่ห้างก็ได้ น้ำมาเมื่อไหร่ก็บอกบริษัทประกันว่าเป็นน้ำป่าไหลหลาก เป็น Act of God ช่วยอะไรไม่ได้ เป็นภัยพิบัติ เท่านี้...บริษัทประกันก็ต้องจ่ายค่าซ่อมรถและค่าเสียหายให้กับเราแล้ว
แต่ทราบกันไหมคะว่า Force Majeure หรือ Act of God นั้นต้องประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยนะคะ (two factors)

1.  Externality ปัจจัยภายนอกที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย มันเกินความสามารถของเราที่จะไปยับยั้งมันได้ เช่น น้ำป่า (ภาษาอังกฤษเรียก Wild Flood /ไวล์ด ฟลัด/) war (สงคราม /วอร์/) riot (การจราจล /ไร-เอิท/ แผ่นดินไหว (earthquake /เอิร์ธ-เควก/) hurricane (เฮ้อร์-ริ-เคน/ และอื่นๆ ที่เราไม่สามารถจริงๆ ที่จะเข้าไปควบคุมมันได้ 

2.  Unpredictability ไม่สามารถทำนายได้เลยว่าจะเกิดภัยนั้นขึ้น คำว่า "predict" เราจะเห็นรากศัพท์คำว่า "dict" ซึ่งแปลว่า พูด นะคะ ส่วนคำว่า pre นั้นเป็น prefix แปลว่า ก่อน เมื่อเอามารวมกัน คือ การพูดก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ซึ่งก็คือ "การทำนายทายทัก" และเมื่อนำคำว่า predict มาใส่ prefix "un" เอาไว้ข้างหน้าก็จะแปลว่า ทำนายไม่ได้ เพราะ "un" แปลว่า "ไม่" ส่วนคำว่า ability เป็น suffix บอกหน้าที่ของคำ ในที่นี้ลงท้ายต้อง "ty" มักเป็นคำนามแน่นอนค่ะ ดังนั้น Unpredictability จึงแปลว่า ต้องเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถทำนายได้ หรือ ไม่สามาถคาดการณ์ได้ค่ะ 

ดังนั้น จึงขอสรุปง่ายๆ ว่า หากมีการประกาศพื้นภัยพิบัติแล้ว เจ้าของรถยังไม่ขนย้ายรถหรือทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ ของตนออกไปจากพื้นที่ ก็จะเป็นข้อยกเว้นของสัญญาข้อ Force Majeure  (สรุปก็คือ ต้องจ่ายค่ารถเองอะไรเอง) เพราะถือว่า มันยังไม่เข้าข้อ 2 เพราะหลังจากการประกาศพื้นที่ภัยพิบัิติแล้ว ย่อมทำนายได้หรือคาดการณ์ได้ว่าอาจเกิดน้ำ่ท่วมขึ้น และถ้าัยังเป็นโรคความดันอยู่ (ความดันทุรังสูงนะคะ) โดยยังยืนกรานที่จอดรถไว้ที่เดิม ก็แน่นอนว่า เจ้าของรถยอมรับที่จะนำรถของเข้าเสี่ยงภัยเอง ถือว่า ไม่ได้ดูแลรถตามที่วิญญูชนควรต้องทำค่ะ -- ก็ต้องซ่อมรถเองอะไรเองไปตามระเบียบนะค้า

 วันนี้เราได้เรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับ 
"ภัยพิบัติ" "หายนะ" และศัพท์ในสัญญาเล็กๆ น้อยๆ นะคะ หวังว่าคงเป็นประโยชน์แก่ทุกคนบ้างตามสมควรนะคะ


ไปฟิตเนสล่ะค้า ได้เวลาออกกำลังกายแล้ว
สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกคนโชคดี 
ขอให้มีน้ำกิน น้ำใช้และไม่ประสบภัยน้ำท่วมนะค้า

แสดงความคิดเห็น

3 ความคิดเห็น

  1. นึกถึงตอนทำความเคารพครูตอนจบวิชาภาษาอังกฤษจัง อิอิ

    ตอบลบ
  2. เจ๋งมากครับ
    อธิบายพร้อมกันไปด้วย แบบนี้ เห็นภาพชัดเจน

    ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ

ทักทาย แสดงความคิดเห็นหรือถามคำถามได้ ที่นี่ เลยค่ะ